มีรายงานตีพิมพ์ออกมาจำนวนหนึ่งแสดงถึงผลการดำเนินโครงการและกลไกส่งต่อโครงการให้ดำเนินต่อไปว่าทำให้สุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่นดีขึ้น และในรายงานเหล่านั้นยังอภิปรายถึงผลการดำเนินโครงการและกลไกส่งต่อโครงการที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งที่มีหลักฐาน แต่การดำเนินงานที่ไม่ได้ผลและกลไกการส่งต่อที่ไร้ประสิทธิภาพก็ยังทำกันอย่างแพร่หลาย
หลังการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (ICPD) มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการออกแบบและทดลองนำร่องโครงการเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาสิทธิวัยรุ่นและตอบสนองความต้องการวัยรุ่นหลายโครงการ มีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ นำโครงการและแผนงานต่างๆ ไปปฏิบัติ ตลอดจนดำเนินการวิจัยและประเมินผลการดำเนินงาน แม้ว่าจะยังมีช่องว่างเรื่องความรู้ความเข้าใจ แต่เราก็เห็นภาพรวมชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความต้องการและปัญหาของวัยรุ่นในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง นอกจากนี้ เรายังเข้าใจอย่างถ่องแท้ขึ้นด้วยว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผลและอะไรไม่ได้ผลในการตอบสนองความต้องการและจัดการปัญหาของวัยรุ่น
โครงการที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งกลับถูกดำเนินการต่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นผลให้ทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณที่ลงทุนไปไม่บังเกิดผลแง่บวกแต่อย่างใด ทั้งยังมีการตั้งคำถามถึงคุณค่าของการลงทุนกับนโยบายและโครงการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการขนาดใหญ่
ในรายงานเชิงวิพากษ์ฉบับนี้ ได้วิพากษ์ช่องว่างที่เกิดจากการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธู์วัยรุ่น ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยจำแนกตามหัวข้อต่างๆ 5 ประเด็นที่ท้าทายความสามารถในการแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานด้านบวกที่สาคัญของการดำเนินโครงการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น ดังนี้
1. มีกลุ่มวัยรุ่นอีกมากยังเข้าไม่ถึงโครงการที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่วัยรุ่น
2. มีโครงการที่แสดงให้เห็นชัดว่าไร้ประสิทธิภาพยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
3. มีโครงการที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีประสิทธิภาพ แต่ถูกดำเนินการต่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ
4. โครงการที่เกิดผลกระทบจำกัดเพราะถูกนำไปดำเนินการต่อทีละเล็กทีละน้อย
5. โครงการที่ถูกส่งมอบอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (คือ มีความเข้มข้นต่ำหรือระยะเวลาสั้น) นำไปสู่ผลกระทบที่จำกัดหรือเกิดผลเพียงครู่เดียว
ศูนย์เยาวชน หนึ่งในโครงการยอดนิยมที่ลงทุนแล้วไม่คุ้มค่า
หนึ่งในโครงการที่นิยมทำกันทั่วโลกคือ การใช้ศูนย์เยาวชนเพื่อขยายช่องทางรับการคุมกำเนิดและบริการด้านสุขภาพอื่นๆ
โดยทั่วไป ศูนย์เยาวชนถูกมองว่าเป็นจุดนัดพบ และ “ร้านค้าครบวงจร” ซึ่งมีการจัดบรรยากาศที่เป็นมิตร ปลอดภัย และไม่มีลักษณะเป็นคลินิก เพื่อเป็นสถานที่ให้ข้อมูลข่าวสารและบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ควบคู่กับบริการสังคมอื่นๆ เช่น กิจกรรมสันทนาการ หรือไม่ก็อินเทอรเ์น็ตคาเฟ่
การเข้าถีงกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบเช่นนี้เป็นวิธีที่นิยมกันมาอย่างต่อเนื่องในแถบลาตินอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ทว่า จากผลการประเมินการดำเนินงานจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงกลุ่มด้วยวิธีเช่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีผลต่อการขอรับบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการทบทวนการประเมินโครงการศูนย์เยาวชน 18 โครงการทั่วโลก พบดังนี้
- จำนวนคนที่มาใช้บริการที่ศูนย์เยาวชนมีสัดส่วนน้อย เป็นคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และส่วน ใหญ่เป็นเพศชาย
- เด็กหนุ่มเหล่านี้เป็นผู้ที่กำลังศึกษาในโรงเรียนหรือในวิทยาลัย อีกทั้งอายุสูงกว่ากลุ่มเป้าหมายมาก
- ผู้แวะเวียนมาใช้ศูนย์เยาวชนมักใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสันทนาการ
- ไม่เกิดผล หรือเกิดผลอย่างจำกัดมาก/ชั่วครู่เดียวในด้านการขอใช้บริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์หรือวิธีคุมกำเนิด
- ค่าใช้จ่ายรายหัวต่อผู้ได้ประโยชน์สูงมาก
ผลการทบทวนแสดงให้เห็นชัดว่า แม้จะเป็นกลยุทธ์ที่นิยมสำหรับดำเนินโครงการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการใช้ศูนย์เยาวชนเป็นช่องทางขยายบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่ศูนย์เยาวชนแสดงให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น แต่กลับเกิดประโยชน์สังคมด้านอื่นผ่านการจัดกิจกรรมสันทนาการ และโครงการพัฒนาเยาวชนอื่นๆ ทั้งยังอาจส่งเสริมให้เกิดผลอันพึงประสงค์ต่อสังคม เช่น ทำให้การรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอันธพาลลดลง หรือใช้เป็นสถานที่พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เป็นต้น
อ่านรายงานภาษาไทยฉบับเต็ม “อะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผลในงานสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์”