พิพิธภัณฑ์ซานฟรานซิสโก เบย์ แอเรีย เลือกวิธีการแหวกแนวในการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเยาวชนบ้านอุปถัมภ์ในแคลิฟอร์เนียโดยเชิญอดีตเยาวชนที่เคยอยู่ในสถานสงเคราะห์มาช่วยกันออกแบบและจัดนิทรรศการก่อนนิทรรศการ วัยเยาว์ที่สาบสูญ (Lost Childhoods) จะออกสู่สายตา อดีตเยาวชนจากสถานสงเคราะห์และตัวแทนนับร้อยเริ่มประชุมกันที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ซานตาครูซ เพื่อพูดคุยว่านิทรรศการจะออกมาในรูปใด โดยสเตซีย์ การ์เซีย ผู้อำนวยการฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ชุมชนอธิบายว่า “เราไม่ใช่ผู้มีประสบการณ์ในสิ่งที่เยาวชนเจอมาจากการอยู่ในบ้านเหล่านั้นและต้องการจะแบ่งปันให้ผู้อื่นรับทราบ เรารู้ว่าจะจัดนิทรรศการอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องราวของพวกเขาได้อย่างไร คนที่รู้จริงคือเยาวชนเหล่านี้”
เจสส์ พรูเดนต์ ผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยภาคสนามกับตัวแทนพิเศษที่แต่งตั้งโดยศาลแห่งซานตาครูซ เคาน์ตี้ ซึ่งสนับสนุนเด็ก ๆ ที่อยู่ในบ้านพักและสถานสงเคราะห์ เล่าถึงความรู้สึกของตนว่าตอนแรกพรูเดนต์นึกสงสัยว่าทางพิพิธภัณฑ์คงต้องการอะไรมากกว่าคำแนะนำพื้น ๆ จากคณะกรรมการชุมชนสร้างสรรค์ แต่ในไม่ช้าก็เปลี่ยนใจอันเป็นผลมาจากกระบวนการภัณฑารักษ์ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง “เราตัดสินใจทุกอย่าง เช่น การออกแบบสถานที่ ชิ้นงานศิลปะที่เราเพิ่มเข้าไป ศิลปิน หรือแม้กระทั่งสิ่งซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมจะต้องเน้น” พรูเดนต์บอก หัวใจสำคัญของนิทรรศการคือภาพถ่ายบุคคลโดย เรย์ บัซโซลาริ รวมถึงชิ้นงานจากพิพิธภัณฑ์เยาวชนสถานสงเคราะห์ของโอ๊คแลนด์

การ์เซียบอกว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ซานตาครูซ เพิ่มเติมชิ้นงานโดยอดีตเยาวชนจากสถานสงเคราะห์ที่อยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของพิพิธภัณฑ์ รวมถึงศิลปินท้องถิ่นที่พวกเขาต้องเลือก “เราเลือกศิลปินจากความเต็มใจที่ต้องการจะร่วมมือและการที่พวกเขาต้องการให้เสียงของเยาวชนเปล่งประกายตัดกับเสียงของพวกเขามากขนาดไหน” การ์เซียบอกให้ลองดู “เสียงผสมผสาน” (Interwoven Voices) โดย เมโลดี โอเวอร์สตรีต ศิลปินในซานตาครูซ นี่คือผืนพรมถักร้อยข้อความจากคณะกรรมการที่เขียนลงบนแถบกระดาษ แผ่นหนึ่งที่พรูเดนต์เขียนมีใจความว่า “เราไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา เราคือเด็กที่เจอปัญหา”

เจมี ลี อีแวนส์ คือ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เยาวชนสถานสงเคราะห์ “ไม่มีที่ไหนจัดแสดงงานได้อย่างที่นี่” อีแวน์บอก “ที่นี่มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดและอาจจะเป็นเพียงแห่งเดียวที่จัดแสดงสิ่งของ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในการอยู่กับสถานสงเคราะห์ผ่านมุมมองเยาวชน”
สิ่งที่นิทรรศการ วัยเยาว์ที่สาบสูญ (Lost Childhoods) แสดงออกอย่างชัดเจน คือของที่ระลึกส่วนบุคคลที่เน้นความจริงเชิงสถิติ ประกาศนียบัตรระดับวิทยาลัยและรูปภาพของเยาวชนในครอบครัวอุปถัมภ์อาศัยในหอพักมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก พร้อมคำบรรยายว่าเกือบจะครึ่งหนึ่งของผู้ที่ผ่านสถานสงเคราะห์มา จะไม่ได้เรียนจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยิ่งมหาวิทยาลัยยิ่งไม่ต้องพูดถึง จำนวนที่ไม่ได้สัดส่วนดังกล่าวจะกลายเป็นคนตกงานหรือแม้แต่คนจรจัดเมื่อ “อายุเกินเกณฑ์ที่จะอยู่ในบ้าน”
“มีคนมากมายบอกฉันว่า รู้ว่าเมื่อมาที่นี่แล้วพวกเขาจะสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อก่อนนี้ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเคยอยู่ในระบบสถานสงเคราะห์หรือไม่ก็ตาม” แช็ด แพล็ตต์ ผู้แทนเยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุที่ต้องเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ในความดูแล ประจำองค์กร Encompass Community Services และอดีตเยาวชนสถานสงเคราะห์กล่าว

ไดแอน ลาม็อตต์ จากแอพทอส ผู้มาชมพิพิธภัณฑ์ ประทับใจกับการจัดแสดง “บีบคั้นหัวใจ สะเทือนอารมณ์” เธอพูดพลางพยายามกล้ำกลืนน้ำตา “ทำให้คุณหวังว่าน่าจะได้ทำอะไรมากกว่านี้เพื่อช่วยเหลือ” แต่ผู้จัดนิทรรศการต้องการมากกว่าแค่การแสดงความเห็นอกเห็นใจของผู้ชม โดยตรงทางเข้างาน มีการจัดวาง “ป้ายแนะแนวทาง” หลากสีสันจำนวนมาก แต่ละใบแสดงวิธีการแต่ละอย่างในการช่วยเยาวชนที่มาจากสถานสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคชุดนอน สอนเด็กวัยรุ่นให้รู้จักเขียนประวัติการทำงาน หรือถ้าคุณได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาก ให้ลองเป็นอาสาสมัครในฐานะตัวแทนพิเศษที่ศาลแต่งตั้งก็ได้
